HostSearch.co.th >
Web Hosting Articles
สิ่งที่ต้องทำเบื้องต้นเมื่อเว็บดาวน์
สำหรับคนที่มีเว็บไซต์ และได้ใช้งานมาสักระยะเวลาหนึ่งก็คงเคยเจอปัญหาเว็บ ดาวน์ เข้าเว็บ ไม่ได้มาบ้าง แต่หลายคนไม่รู้ถึงสาเหตุ จึงทำให้การแก้ไขเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะจะต้องรอการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการ ซึ่งหากเว็บไซต์ของเราแยกผู้ให้บริการระหว่างผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนม กับผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง ก็อาจจะทำให้การตรวจสอบและแก้ไขล่าช้าเข้าไปอีก แต่ถ้าเราสามารถตรวจสอบได้เบื้องต้นว่าปัญหาเว็บดาวน์ เว็บเข้าไม่ได้ มีสาเหตุมาจากอะไร ก็จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่าย และรวดเร็ว หรืออย่างน้อยก็สามารถแจ้งถึงปัญหาให้กับผู้ให้บริการได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยป้องกันในกรณีที่ผู้ให้บริการบางรายไม่แจ้งปัญหาที่แท้จริง
ดังนั้นหากเรารู้วิธีการที่จะตรวจสอบ และรู้ถึงสาเหตุที่เว็บ ดาวน์ เข้าใช้งานเว็บ ไม่ได้ ก็จะทำให้เราแก้ไขปัญหา ทำให้เว็บ กลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เพราะยิ่งเว็บ ดาวน์ หรือใช้งานไม่ได้นานเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าเราสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และสูญเสียความน่าเชื่อถือ จากลูกค้า หรือผู้เข้าชมเว็บ ของเรา มากเท่านั้น
สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อเว็บไซต์ดาวน์ หรือไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบง่ายๆ ได้ด้วยตนเองมีดังนี้
1. ตรวจสอบวันหมดอายุของโดเมนเนม เพราะโดเมนเนมถือเป็นด่านแรกในการเข้าถึงเว็บไซต์ หากโดเมนเนมหมดอายุก็ทำให้ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ โดยการตรวจสอบทำได้โดยการตรวจสอบข้อมูลวันหมดอายุของโดเมนเนมได้ที่ระบบ Whois โดยส่วนมากผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนม (รวมถึงผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งด้วย) จะมีระบบ Whois อยู่ที่หน้าเว็บไซต์อยู่แล้ว หรือตรวจสอบข้อมูลโดเมนเนมได้ที่ www.domaintools.com โดยเราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วยการพิมพ์โดเมนเนมของเราที่ช่องสำหรับกรอก แล้วกดค้นหา ระบบจะโชว์ข้อมูลของโดเมนเนมทั้งหมดและจะมีส่วนของวันหมดอายุโดเมนเนม (Expire date) ซึ่งหากตรวจสอบแล้วโดเมนเนมของเราหมดอายุ ก็ให้รีบติดต่อผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมเพื่อทำการต่ออายุโดเมนเนม เพื่อให้เว็บไซต์ที่ดาวน์ หรือเข้าใช้งานไม่ได้อยู่ สามารถกลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด (สำหรับกรณีที่โดเมนเนมหมดอายุแล้ว เมื่อเราชำระค่าบริการเพื่อทำการต่ออายุ ระบบจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชม. สำหรับปรับปรุงข้อมูลของโดเมนเนม และทำให้สามารถเข้าเว็บไซต์ได้อีกครั้ง)
2. ตรวจสอบวันหมดอายุของบริการเว็บโฮสติ้ง หลังจากเราตรวจสอบโดเมนเนมแล้ว หากโดเมนเนมไม่หมดอายุ หรือหมดอายุ และเราต่ออายุแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้อีก ก็ให้มาตรวจสอบอีกบริการหนึ่งที่สำคัญสำหรับเว็บไซต์ก็คือ บริการเว็บโฮสติ้ง โดยการตรวจสอบวันหมดอายุบริการเว็บโฮสติ้งทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีแรกคือการตรวจสอบจากข้อมูลที่ผู้ให้บริการเคยให้ไว้ หรือมีการแจ้งเตือนมาหาเรา โดยทั่วไปจะใช้ช่องทางอีเมลล์ ดังนั้นเราสามารถตรวจสอบดูที่อีเมลล์ของเราได้ว่าผู้ให้บริการได้แจ้งว่าบริการเว็บโฮสติ้งของเราจะหมดอายุเมื่อไหร่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วว่าหมดอายุก็ติดต่อไปยังผู้ให้บริการ และดำเนินการต่ออายุซะ ก็จะสามารถกลับมาใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ แต่หากเราไม่ได้เก็บอีเมลล์ไว้แล้ว ก็ให้ตรวจสอบในส่วนที่เป็นเอกสาร (ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่เป็นผู้ให้บริการในไทย ที่เป็นผู้ให้บริการที่เป็นบริษัท) เนื่องจากเมื่อเรามีการสมัครใช้งาน ชำระค่าบริการเว็บโฮสติ้งแล้ว ผู้ให้บริการก็จะจัดส่งใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีมาให้ ซึ่งจะมีการระบุถึงระยะเวลาการใช้งาน (เริ่มเมื่อไหร่ หมดอายุวันไหน) หากตรวจสอบทั้ง 2 ช่องทางแล้วไม่ได้เก็บเอกสาร หรืออีเมลล์ไว้เลย ก็ต้องติดต่อสอบถามไปยังผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งที่เราใช้บริการอยู่ เพื่อจะได้รู้วันหมดอายุที่ถูกต้อง หากหมดอายุ และถูกระงับการให้บริการ (เป็นสาหตุที่เว็บ ดาวน์ เข้าเว็บ ไม่ได้) ผู้ให้บริการก็จะแจ้ง และให้เราชำระค่าบริการ หลังจากนั้นผู้ให้บริการก็จะเปิดบริการให้เราใช้งานเว็บไซต์ได้อีกครั้ง
3. ตรวจสอบความถูกต้องของการเชื่อมโยงกันระหว่างโดเมนเนม และบริการเว็บโฮสติ้ง โดยการตรวจสอบค่า DNS ของโดเมนเนม สามารถดูได้ที่ระบบ Whois โดยค่า DNS ของโดเมนเนมเราจะต้องเป็นค่า DNS ของผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งที่เราใช้บริการอยู่ โดยเราสามารถตรวจสอบค่า DNS ที่ถูกต้องได้โดยการดูจากข้อมูลที่ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งจัดส่งให้เมื่อตอนเราสมัครใช้บริการ หรือติดต่อสอบถามไปที่ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งโดยตรง เนื่องจากหากค่า DNS ของโดเมนเนมไม่ใช่ของผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งที่เราใช้บริการอยู่ ก็จะทำให้โดเมนเนมไม่สามารถเรียกข้อมูลเว็บไซต์ได้
4. ตรวจสอบการทำงานของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ สำหรับวิธีนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงอาจทำให้ตรวจสอบ และดูผลได้ยาก แต่หากตรวจสอบโดยวิธีการข้างต้นแล้วไม่มีสิ่งผิดปกติ แต่เว็บไซต์ยังคงไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้ การตรวจสอบที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามการตรวจสอบด้วยวิธีนี้เป็นเพียงการตรวจสอบการทำงานของเซิร์ฟเวอร์แบบเบื้องต้นเท่านั้น วิธีการก็คือการ Ping โดยเราจะทำการ Ping ไปที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่เราใช้งานอยู่ เพื่อตรวจสอบการตอบสนองของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยการใช้โปรแกรม Command prompt ของ Windows พิมพ์คำว่า ping เว้นวรรคและตามด้วยชื่อโดเมนเนมของเรา (กรณีนี้ต้องตรวจสอบแล้วว่าโดเมนเนมไม่หมดอายุ) แล้วกด Enter หลังจากนั้นจะมีการตอบกลับจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยการตอบกลับโดยจะแจ้ง IP ของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่เราใช้บริการเว็บโฮสติ้งอยู่ จากนั้นจะเป็นการแจ้งข้อมูลว่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์ใช้เวลาในการตอบกลับเท่าไหร่ แต่หากระบบโชว์ข้อความว่า “Request timed out” ให้สันนิฐานว่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์อาจมีปัญหาจึงไม่มีการตอบกลับการ ping ของเรา แต่อย่างไรก็ตาม การที่โชว์ข้อความว่า “Request timed out” อาจเกิดจากการที่ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งปิดการโต้ตอบในส่วนนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกโจมตีในลักษณะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของเว็บไซต์ดาวน์ เข้าใช้งานไม่ได้ เช่น อินเตอร์เน็ตของเรามีปัญหาหรือเปล่า ถึงไม่สามารถเข้าเว็บ ได้ ทางผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งมีการปรับปรุงระบบ (ซึ่งโดยปกติจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ก่อนการดำเนินการ) หรือกรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตที่ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งใช้บริการอยู่เกิดขัดข้องทำให้ไม่สามารถติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บ เราอยู่ได้ หรือร้ายแรงกว่านั้นคือเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น เช่น เกิดไฟไหม้ อาคารถล่ม ที่ Internet Data Center (สถานที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์) ที่ให้บริการเรา ในกรณีที่เราไม่สามารถหาสาเหตุได้ก็ให้ติดต่อไปยังผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาให้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีทั้งสาเหตุที่คาดไม่ถึง สุดวิสัยที่จะควบคุมได้ ที่ทำให้เว็บไซต์เราดาวน์ แต่ก็มีสาเหตุที่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้ ด้วยการต่ออายุบริการโดเมนเนม และบริการเว็บโฮสติ้ง เพื่อมิให้เกิดกรณีการระงับการให้บริการ ด้วยวิธีการทั้งหมดนี้น่าจะทำให้เข้าใจถึงปัญหา สาเหตุ และการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในกรณีเว็บ ดาวน์ ได้เป็นอย่างดี